บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด
- Details
- Category: ประวัติ
- Hits: 34657
จากการเสด็จประพาสต้นทางภาคเหนือของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นความทุกข์ยากลำบากของประชาชน และปัญหาการปลูกฝิ่น อันเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ และเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขาขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการปลูกฝิ่น โดยทางโครงการได้ส่งเสริมให้ปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน ในระยะแรกนั้น เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกท้อ และลิ้นจี่ ต่อมาจึงได้มีการส่งเสริมให้ปลูกแอปเปิ้ล มันฝรั่ง ข้าวโพดหวาน ถั่วแดงหลวง และมิ้นต์ รวมไปถึงการแนะนำให้มีการเลี้ยงสัตว์ด้วย เช่น ปลา และแกะ เป็นต้น
ซึ่งเมื่อมีผลผลิตเกิดขึ้นมาแล้ว ก็เกิดปัญหาการหาตลาดรับซื้อไม่ได้ เพราะพื้นที่ค่อนข้างห่างไกลเกษตรกร จึงถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระมีพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งสหกรณ์ชาวเขาขึ้น โดยมีผู้เกี่ยวข้องได้มาประชุมกันครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ที่วัดทุ่งจำลอง ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ดูแลโครงการทดลองผลไม้เมืองหนาวดอยปุย จำนวน ๔ คน และจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน ๕ คน กำนันและผู้ใหญ่บ้าน จำนวน ๑๑ หมู่บ้าน รวมไปถึงชาวเขาเผ่าเย้า และชาวจีนฮ่อ รวมทั้งหมด ๓๖ คน เพื่อริเริ่มการรวมกลุ่มแบบสหกรณ์ขึ้น มีวัตถุประสงค์และการดำเนินงาน คือ จะช่วยเหลือชาวเขาและชาวไร่ทุกคนทางด้านเกษตรกรรม และจัดให้มีตลาดรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร อีกทั้งนำเอาผลิตผลไปเป็นอุตสาหกรรมหลัก โดยมีสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นที่ปรึกษาในการผลิตอาหารสำเร็จรูป โดยโครงการโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปนั้น มีศาสตราจารย์ อมร ภูมิรัตน์ ในนามของสถาบันค้นคว้า และผลิตภัณฑ์อาหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้อำนวยการ ดำเนินการอยู่ภายใต้การควบคุมของ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี องค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวง
โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) : โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปตั้งอยู่ที่ บ้านยาง ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ในระยะแรกของการดำเนินการ โรงงานมีลักษณะเป็นเพียงโรงงานเคลื่อนที่ โดยใช้รถยนต์ดัดแปลงให้เป็นโรงงานเคลื่อนที่ ต่อมาได้ใช้อาคารของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเป็นโรงงานชั่วคราว ซึ่งการที่ตั้งโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปขึ้นมานั้น เกษตรกรสามารถนำเอาผลผลิตมาจำหน่ายได้ในราคายุติธรรม
ต่อมาได้มีการสร้างโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปขึ้นในบริเวณที่เป็นตลาดร่มเกล้าและสหกรณ์แม่งอนเดิม เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปได้แบ่งบุคลากรออกเป็น ๓ ฝ่ายหลัก คือ ผู้จัดการที่มีความรู้เรื่องการถนอมอาหาร เจ้าหน้าที่ควบคุมคุณภาพ และช่างลักษณะของการดำเนินโครงการหลวงนี้ จะมีลักษณะเป็นแบบการพัฒนาชนบท ซึ่งจากประวัติความเป็นมามักจะเริ่มต้นด้วยการพัฒนาท้องที่ มีการจัดตั้งสถานีอนามัยชั้นสองและศูนย์โภชนาการเด็ก เพื่อส่งเสริมสุขภาพอนามัยของคนในชุมชนควบคู่ไปด้วย อันถือได้ว่าเป็นการสะท้อนแนวคิดด้านการช่วยเหลือประชาชนบนพื้นที่สูงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) จัดเป็นโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปแห่งแรกที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น ตลอดจนเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ ยึดเอาแนวคิดด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมมาใช้ ทั้งการใช้พลังงานในโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) ที่นำเอาพลังงานน้ำมาใช้ รวมทั้งการกำจัดของเสีย
อย่างไรก็ตาม พื้นที่ตั้งโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) ประสบกับปัญหาการเกิดอุทกภัยขึ้นหลายครั้ง โดยอุทกภัยครั้งใหญ่ที่ทำความเสียหายให้โรงงานได้เกิดขึ้นจำนวน ๒ ครั้ง โดยครั้งที่ ๑ เกิดเมื่อวันที่ ๑๓ - ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕ ส่วนครั้งที่ ๒ นั้น เกิดจากการที่น้ำท่วมและดินโคลนถล่มลงมาตามลำห้วยแม่งอน แม่ขาน และแม่ขานน้อย ลงมาสู่ที่ราบ เนื่องจากเกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ในวันที่ ๘ - ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ทำให้เกิดความเสียหายกับโรงงานเป็นอย่างมาก รวมไปถึงมีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจำนวน ๑๕ หมู่บ้าน
ภายหลังอุทกภัยในครั้งนี้ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนใหญ่ของ บจ.ดอยคำฯ ได้วางแนวทางการดูแลฟื้นฟูโรงงานหลวง ออกเป็น ๔ ด้าน ได้แก่ ด้านงานพิพิธภัณฑ์ ด้านงานการผลิตและการฟื้นฟูโรงงานหลวง ด้านการเรียนรู้ และด้านธุรกิจสนับสนุน โดยเริ่มเปิดดำเนินการผลิตอีกครั้งในเดือน พฤษภาคม ปี พ.ศ. ๒๕๕๒
โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๒ (แม่จัน) : ตั้งอยู่ที่ หมู่บ้านป่าห้า ตำบลป่าซาง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ก่อตั้งขึ้นเมื่อราว พ.ศ. ๒๕๑๗ โดยมี ศาสตราจารย์ อมร ภูมิรัตน ในนามของสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้อำนวยการ ดำเนินการอยู่ภายใต้การควบคุมของหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เช่นเดียวกันกับที่โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) โดยมีจุดประสงค์เพื่อรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมให้มีการเพาะปลูกพืชเมืองหนาวทดแทนการปลูกฝิ่นจากมูลนิธิโครงการหลวง
โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๒ (แม่จัน) เปิดทำการทดลองผลิตข้าวโพดฝักอ่อน น้ำนมถั่วเหลือง เมื่อ วันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๗ ซึ่งได้รับพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ ๑๐๐,๐๐๐.๐๐ บาท เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนของโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป และได้ทูลน้อมเกล้าฯ ถวายโรงงาน เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๙ ซึ่งนอกจากเงินทุนส่วนนี้แล้ว ยังมีเงินทุนสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่ บริษัทต่างประเทศ และรัฐบาลต่างประเทศ โดยเสด็จพระราชกุศลถวายเงิน ที่ดิน เครื่องจักร อุปกรณ์ และสิ่งปลูกสร้างด้วย
นอกจากจะมีการสร้างโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปแล้ว ยังมีการจัดตั้งสหกรณ์การเกษตร เพื่อจัดจำหน่ายปุ๋ย สารเคมี และเครื่องอุปโภคบริโภคทางการเกษตร แก่เกษตรกรด้วย เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้สินค้าที่มีราคาถูก และยังมีการจัดตั้งศูนย์โภชนาการเด็กเพื่อให้เด็กได้รับโภชนาการที่ถูกต้องและเติบโตเป็นประชาชนที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและสติปัญญา และพระราชทานสถานีอนามัยชั้นสองเพื่อให้ชาวบ้านสามารถเข้ามารับคำแนะนำในด้านสุขภาพอนามัย ให้รู้จักป้องกันและดูแลรักษาตนเองในเรื่องของความเจ็บป่วยและความปลอดภัย
โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๒ (แม่จัน) จะรับซื้อผลผลิตจากอำเภอแม่สาย อำเภอแม่จัน อำเภอเชียงแสน และอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย โดยมีผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากถั่วเหลืองเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างชื่อเสียงให้กับโรงงานแห่งนี้ เนื่องจากว่ามีเครื่องจักรผลิตแป้งถั่วเหลืองไขมันเต็มรูปแบบ (Full Fat Soy Flour) เป็นแห่งแรกของประเทศไทย
โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๓ (เต่างอย) : โรงงานแห่งนี้ ตั้งอยู่ที่ อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร (ในสมัยนั้นเป็นกิ่งอำเภอเต่างอย) ถือกำเนิดขึ้น ระหว่างที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศ จังหวัดสกลนคร ได้เสด็จไปยังหมู่บ้านนางอย ~ โพนปลาโหล เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๓ และได้ทอดพระเนตรเห็นความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นของราษฎร จึงมีพระราชดำริให้หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์ และศาสตราจารย์ อมร ภูมิรัตน เข้าไปดำเนินการ โดยมีพระราชดำริเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนา คือ
๑. ปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น
๒. ส่งเสริมให้มีรายได้
๓. หลังจากพัฒนาแล้ว ชาวบ้านสามารถรักษาสภาพความเป็นอยู่และพัฒนาต่อไปได้ด้วยตนเอง
เมื่อเริ่มโครงการพัฒนานั้น ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นอย่างมาก ขาดแคลนอาหารและน้ำสำหรับการอุปโภคและบริโภค อีกทั้งเป็นพื้นที่ที่ถูกรบกวนโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย รัฐบาลไทยจึงได้จัดให้เป็นพื้นที่สีแดง อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มเข้าไปพัฒนา สำรวจพบว่า มีหมู่บ้านที่ยากจนเช่นกันอีกจำนวน ๓ หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านห้วยหวด หมู่บ้านกวนปุ่น และหมู่บ้านโคกกลาง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ รับหมู่บ้านดังกล่าวให้อยู่ในโครงการเพิ่มเติมจากหมู่บ้านนางอย โพนปลาโหล
จากโครงการตามพระราชดำริดังกล่าว จึงมีการจัดตั้งโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปขึ้น โดยมูลนิธิโครงการหลวงได้นำเอาแนวคิดมาจากการพัฒนาในพื้นที่ภาคเหนือ คือ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) กับโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๒ (แม่จัน) มาเป็นต้นแบบ ซึ่งโรงงงานหลวงแห่งนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ ถือเป็นโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปแห่งที่ ๓ เริ่มทำการผลิตน้ำมะเขือเทศเข้มข้นเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดแรกของโรงงาน และต่อมามีการส่งเสริมให้ปลูกข้าวโพดฝักอ่อน และแปรรูปสินค้าเพื่อจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ
ส่วนในงานพัฒนาชุมชนที่ดำเนินการควบคู่ไปนั้น ได้มีการสร้างศูนย์โภชนาการเด็ก เพื่อลดสภาพการขาดสารอาหารในเด็ก การสร้างสถานีอนามัย การจัดทำธนาคารข้าว การซ่อมและการสร้างวัด การขุดบ่อน้ำบาดาลและการจัดหาถังเก็บน้ำฝน และงานสุขาภิบาลชุมชน ทางด้านการพัฒนาอาชีพนั้น ส่งเสริมให้มีการปลูกมะเขือเทศ ข้าวโพดฝักอ่อน ไผ่ตง และมะละกอ โดยโรงงานหลวงฯ ที่ ๓ (เต่างอย) ได้รับซื้อผลิตผลส่วนใหญ่จากเกษตรกรในพื้นที่กิ่งอำเภอเต่างอย กิ่งอำเภอโคกศรีสุพรรณ อำเภอกุดบาก และอำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร และขยายตลาดการรับซื้อไปถึงจังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดหนองคาย
ในปี ๒๕๒๙ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชดำริให้ โรงงานหลวงฯ เป็นแหล่งให้การศึกษาด้านเทคนิคแก่นักเรียนในพื้นที่ และให้การศึกษาวิชาชีพระดับสูงแก่ลูกหลานเกษตรกร เพื่อให้สามารถรับผิดชอบโรงงานหลวงฯ ได้เพิ่มขึ้น ต่อมาในปี ๒๕๕๔ เนื่องจากเครื่องจักรผลิตหลักของโรงงาน มีการชำรุดทรุดโทรม เพราะอายุการใช้งานเป็นเวลานาน และไม่เหมาะสมกับการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพเพื่อการแข่งขันในตลาดทั่วไป คณะผู้บริหารจึงได้ถวายรายงาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงทรงมีพระราชดำริให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัทดอยคำ ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ทำการปรับปรุงโรงงานทั้งอาคาร พื้นที่ และเครื่องจักรผลิตมะเขือเทศให้ทันสมัย โดยเริ่มดำเนินการอีกครั้ง ในเดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕
โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๔ (ละหานทราย) : โครงการส่งเสริมการพัฒนาตามพระราชดำริ อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ โครงการนี้ ถือเป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่มีหน่วยงานราชการหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือและพัฒนา เนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ติดกับประเทศกัมพูชา ซึ่งในช่วง พ.ศ. ๒๕๒๑-๒๕๒๒ มีการสู้รบกันอย่างรุนแรงในพื้นที่ระหว่างทหารไทยกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ โดยฝ่ายทหารไทยได้ตัดถนนเข้าไปในพื้นที่เพื่อเปิดพื้นที่ยุทธศาสตร์ การสู้รบขณะนั้นเป็นไปอย่างดุเดือดและรุนแรง หมู่บ้านถูกเผาทำลาย ประชาชนถูกกวาดต้อนเข้าประเทศกัมพูชาจำนวนหลายร้อยคน แต่ในที่สุดฝ่ายรัฐบาลไทยก็สามารถเข้ายับยั้งและควบคุมสถานการณ์ที่ร้ายแรงนี้ไว้ได้และยึดครองพื้นที่โดยสมบูรณ์
โครงการตามพระราชดำรินี้เน้นการบรรเทาทุกข์แก่ราษฎร และความมั่นคงของชาติ มีการพัฒนาและสำรวจแหล่งน้ำ จัดให้มีที่ดินทำกิน พัฒนาเศรษฐกิจสังคม ศาสนา อนามัย และการศึกษา เน้นการพัฒนาแบบผสม มีหมู่บ้านร่วมโครงการ ๔๐ หมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านเดิม ๒๖ หมู่บ้าน และหมู่บ้านเกิดใหม่อีก ๑๔ หมู่บ้าน โดยเลือกพัฒนาตัวอย่าง จำนวน ๕ หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านซับสมบูรณ์ หมู่บ้านป่าไม้สหกรณ์ หมู่บ้านคลองหิน หมู่บ้านคลองโป่ง และหมู่บ้านหนองเสม็ด
ต่อมาได้มีการจัดตั้งโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปแห่งที่ ๔ ขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ เพื่อเป็นตลาดรับซื้อสินค้าในราคาประกัน โดยรับซื้อผลผลิตในพื้นที่ อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอเสิงสาง อำเภอครบุรี อำเภอประคำ จังหวัดนครราชสีมา และเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้ขยายตลาดรับซื้อไปในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ตอนล่าง ในเขตจังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดศรีสะเกษด้วย
ปัจจุบันโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๔ (ละหานทราย) ไม่สามารถผลิตหรือแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อจัดจำหน่ายได้ เนื่องจากเกิดภาวะขาดทุนเป็นอย่างมาก บจ. ดอยคำฯ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปิดโรงงานแห่งนี้ลงในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ เนื่องด้วยภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ